บ้านเรือนของคนไทยแต่เดิมนิยมสร้างให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ตลอดจนขนบธรรมเนียมหรือความเชื่อ
ที่สืบต่อกันมาลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งก็คือ
การอยู่อาศัยแบบ “ไม่ติดดิน” นั่นไม่ใช่เพราะคนไทยเป็นคนหัวสูงหรือทำตัวไม่ติดดินแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะวิถีชีวิตที่ผูกพัน
กับสายน้ำ ทั้งสัญจร ทำมาค้าขาย และเกษตรกรรม รวมทั้งสภาพอากาศที่มีทั้งลมและฝนเกือบตลอดทั้งปี จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้อง
สร้างบ้านยกใต้ถุนสูงเพื่อไม่ให้ความชื้นเข้าสู่ตัวบ้านซึ่งมักจะสร้างจากไม้ ทั้งยังป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก กลายเป็นการอยู่อาศัย
ไม่ติดดินไม่โดยปริยาย ซึ่งใต้ถุนไม่ได้มีดีแค่ใช้หนีน้ำเท่านั้น แต่คนไทยยังใช้ฟังก์ชั่นใต้ถุนเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ไม่ว่าจะเก็บเครื่องมือเกษตร
ทำงานหัตถรรม เลี้ยงสัตว์ พักผ่อน เป็นต้น เรียกว่าแม้จะไม่อยู่ติดดินแต่ก็ยังสามารถใช้งานส่วนที่ติดดินได้อย่างคุ้มค่า
หากลองย้อนไปดูบ้านไทยในแต่ละภาคจะเห็นว่า แม้ว่าตัวบ้านจะมีรายละเอียดเฉพาะแตกต่างไป แต่จุดร่วมอย่างหนึ่งที่มีเหมือนกัน
ก็คือ ใต้ถุน ลองมาดูกันว่าการอยู่ไม่ติดดินของบ้านแต่ละแห่งแต่ละภาคมีความแตกต่างกันอย่างไรและมีการใช้งานอะไรบ้าง
ภาคกลาง ภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึง จำเป็นต้องยกใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ป้องกันสัตว์มีพิษต่าง ๆ
ไม่ให้ขึ้นบ้าน เรือนไทยภาคกลางจะไม่ปลูกเรือนขวางตะวันเพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนจากดวงอาทิตย์ หลังคาทรงจั่วสูงเพื่อให้ความร้อน
ถ่ายเทเข้าบ้านได้ช้า และระบายอากาศได้ดี ชายคายื่นยาวป้องกันแดดส่องและฝนสาดเข้ามาถึงในบ้าน ตัวบ้านรูปทรงล้มสอบ ฝาบ้าน
ถอดเข้าออกได้เรียก ฝาประกน มักสร้างเป็นเรือนหมู่ มีระเบียงและชานเชื่อมตัวบ้านแต่ละหลัง ใต้ถุนบ้านใช้เก็บข้าวของ เลี้ยงสัตว์
หรือรับแขกโดยไม่ต้องขึ้นไปบนบ้าน


ภาคใต้ มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี และมีเพียง 2 ฤดู คือฤดูฝน และ ฤดูร้อนเท่านั้น หลังคาบ้านในภาคใต้ทำเป็นทรงสูงและชัน มี 3 แบบ
คือ หลังคาทรงปั้นหยา มีสันหลังคาห้าสัน หลังคาจั่วมนิลาคือหลังคาทรงปั้นหยาที่มีจั่วเพื่อระบายลมและเพิ่มความสวยงาม และหลังคาจั่ว
ได้รับอิทธิพลจากเรือนไทยภาคกลาง ต่างกันที่ปั้นลมปีกนกได้อิทธิพลจากมาเลเซีย การทำหลังคาจะต่อชายคาคลุมบันไดเนื่องจากฝนตกชุก
นิยมประกอบส่วนต่างๆ ของเรือนบนพื้นดินก่อนแล้วจึงยกขึ้นประกอบเป็นตัวเรือนทำให้สะดวกในการย้ายบ้าน ตัวเรือนไม้ยกพื้นสูงมีชาน
เชื่อมต่อกัน ไม่นิยมฝังเสาเรือนลงไปในดินแต่จะใช้ตอม่อหรือฐานเสาที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ศิลาแลง หรือ เสาก่ออิฐฉาบปูนรองรับเพื่อป้องกัน
ปลวกและปัญหาการผุกร่อนจากความชื้นในดินเนื่องจากมีความชื้นสูง ใต้ถุนใช้เป็นที่พักผ่อน เก็บของ หรือประกอบอาชีพเสริม เช่น ทำกรงนก

ภาคเหนือ รูปทรงโดดเด่นเป็นแบบศิลปะล้านนา เรือนของคหบดีนิยมใช้สัญญลักษณ์ ”กาแล” สลักลายงดงามไขว้กันติดที่ปลาย
ยอดหลังคา เนื่องจากภาคเหนือมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น บ้านจึงมีลักษณะมิดชิดเพื่อกันลมหนาว หลังคาและสัดส่วนตัวบ้านค่อนข้างเตี้ย
มีหน้าต่างน้อย บานเล็กและแคบเพื่อป้องกันลมหนาว และรักษาความอบอุ่น ทำระเบียงไว้ใต้ชายคาใช้นั่งเล่นหรือรับประทานอาหาร
นอกชานมีร้านน้ำตั้งน้ำดื่ม ใต้ถุนเรือนค่อนข้างต่ำเพราะเป็นพื้นที่ภูเขาจึงไม่มีปัญหาน้ำท่วมถึงจึงไม่จำเป็นต้องยกพื้นสูงนัก ใช้เก็บเครื่องใช้
ในการเกษตร วางหูกทอผ้า หรือยกเป็นร้านเตี้ยๆ ใช้รับแขกหรือนั่งเล่น
ภาคอีสาน มักตั้งบ้านเรือนรวมกันเป็นกระจุกตามลำน้ำ ตัวบ้านรูปแบบเรียบง่าย ไม่นิยมทำกันสาดยื่นออกมา นิยมตั้งเสายกพื้น
เป็นใต้ถุนค่อนข้างสูงกว่าภาคอื่น และมีการใช้สอยมากที่สุด ทั้งใช้ทำงานหัตถกรรมนอกเหนือจากฤดูทำนา เช่น ทอผ้า ปั่นด้าย จักสาน
เลี้ยงลูกหลาน เก็บไหปลาร้า กั้นคอกเลี้ยงสัตว์ จอดเกวียน เก็บเครื่องมือเกษตร มีชานโล่งลดระดับลงมาจากเรือนนอนใหญ่ ส่วนของ
ใต้ถุนของชานนี้จึงเตี้ยกว่าปกตินิยมใช้เก็บฟืน

แม้ว่าการยกใต้ถุนบ้านจะเป็นเอกลักษณ์ของบ้านไทย แต่ปัจจุบันไม่นิยมสร้างบ้านมีใต้ถุนเนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาน้ำท่วม
เหมือนเช่นเคย และเพื่อให้ใช้พื้นที่คุ้มค่า บ้านสมัยใหม่จึงยกพื้นขึ้นมาเล็กน้อยประมาณ 1 เมตร หรือตามความสูงของขั้นบันไดขึ้นบ้าน
ประโยชน์เพื่อป้องกันความชื้นจากดินโดยตรง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดเชื้อรา หรือความชื้นสะสมจนทำให้วัสดุปูพื้นบวมและเสียหาย ช่วยมีการ
หมุนเวียนอากาศรอบตัวบ้านได้ดีขึ้น และป้องกันสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์มีพิษต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง หากกังวลว่าจะมีสัตว์มีพิษเข้าไป
อยู่อาศัยใต้พื้นบ้านอาจจะนำตาข่ายมากั้นระหว่างรอยต่อของพื้นดินและพื้นบ้านและปลูกต้นไม้พรางให้ดูสวยงาม

นอกจากยกพื้นใต้ถุนเตี้ยๆ แบบที่กล่าวไปแล้ว ฟังก์ชั่นของใต้ถุนยังสามารถปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ชั้นหนึ่งแทน โดยกำหนด
ให้มีความสูงอยู่ที่ 2.20-2.40 เมตร กั้นให้ดูโปร่ง หรือเปลี่ยนจากกั้นเต็มผนังเป็นกั้นบางส่วน ใช้ประตูบานเฟี้ยมที่เปิดออกได้กว้าง
ประตูบานเลื่อนกระจก หรือผนังกระจกที่เปิดรับวิวได้โดยรอบ หรือจัดเป็นพื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์ใช้บล็อกช่องลมกั้นขอบเขตช่วยให้แสงและลม
ผ่านเข้าบ้านได้ดี ขณะที่ยังคงความเป็นส่วนตัวได้ด้วย ลักษณะคล้ายกับนอกชานบ้าน การออกแบบพื้นที่ลักษณะนี้ช่วยให้ใช้งานได้
อเนกประสงค์มากขึ้น ไม่ว่าจะทำเป็นส่วนพักผ่อน นั่งเล่น มุมกิจกรรมต่าง ๆ จอดรถ ทำงานอดิเรก เป็นต้น ทั้งหมดคือวิธีการนำเอาฟังก์ชั่น
ของใต้ถุนบ้านในแบบฉบับของคนชอบอยู่แบบไม่ติดดินมาปรับใช้ให้เหมาะกับยุคสมัย และใช้งานได้ดี
ไม่พลาดทุกเรื่องบ้านจากเรา
ทำบ้านให้เป็นบ้าน