บ้านบ้าน วิภาวดี 20
บ้านบ้าน วิภาวดี 20

Blog ทำบ้านให้เป็นบ้าน

ตรวจภายใน
ถ้าถามนิยามคำว่า ‘บ้านสวย’ เราเชื่อว่าคำตอบของแต่ละคนนั้นคงไม่เหมือนกัน
แต่ถ้าบอกว่า “บ้านที่ออกแบบจัดระเบียบไว้ดี ก็จะทำให้เราใช้ชีวิตง่ายมาก” คงจะพยักหน้าตามเหมือนกันใช่ไหม
หนุ่ม-รังสรรค์ นราธัศจรรย์ เป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ และดีไซน์ ไดเรกเตอร์ แห่ง niiq แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อดัง
ผู้บอกประโยคข้างบนนี้ และผู้ที่จะพาเราไปขึ้นขาหยั่งตรวจภายใน (บ้าน) ว่านอกเหนือจากความสวยงามแล้ว
การออกแบบ-ตกแต่งภายใน มีเรื่องราวซ่อนอยู่มากมายกว่าที่คิด
    ถ้าถามนิยามคำว่า ‘บ้านสวย’ เราเชื่อว่าคำตอบของแต่ละคนนั้นคงไม่เหมือนกัน
    แต่ถ้าบอกว่า “บ้านที่ออกแบบจัดระเบียบไว้ดี ก็จะทำให้เราใช้ชีวิตง่ายมาก” คงจะพยักหน้าตามเหมือนกันใช่ไหม
    หนุ่ม-รังสรรค์ นราธัศจรรย์ เป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ และดีไซน์ ไดเรกเตอร์ แห่ง niiq แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อดัง
ผู้บอกประโยคข้างบนนี้ และผู้ที่จะพาเราไปขึ้นขาหยั่งตรวจภายใน (บ้าน) ว่านอกเหนือจากความสวยงามแล้ว
การออกแบบ-ตกแต่งภายใน มีเรื่องราวซ่อนอยู่มากมายกว่าที่คิด
บ้านบ้าน วิภาวดี 20
    ขอแนะนำตัวเขาให้คุณรู้จักสักนิด รังสรรค์ คือเด็กหนุ่มผู้รู้ตัวตั้งแต่มัธยมว่าชอบงานออกแบบ โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบภายใน การจัดการพื้นที่ในบ้าน สนใจงาน Exhibition การจัดดิสเพลย์ในห้าง การจัดนิทรรศการในหอศิลป์ รวมถึงการบาลานซ์การออกแบบ ที่ไม่ได้เป็นเรื่องของการใช้งานเพียงอย่างเดียว ความสนใจเหล่านี้ทำให้เขามุ่งมั่นตัดสินใจเลือกเรียนด้านสถาปัตยกรรมภายใน
    หลังเรียนจบเขาทำงานในฐานะมัณฑนากร จวบจนวันนี้กินเวลากว่า 30 ปี ไม่รักก็คงไม่ใช่ แสดงว่ามีความสุขกับงานที่ทำ…
‘ไม่งั้นคงไม่ทำได้ถึง 30 ปี นะ’ ไม่ทันจบประโยคดี เขารีบบอกพร้อมเสียงหัวเราะ และน่าจะเป็นเสียงหัวเราะที่ดังที่สุดตลอดบทสนทนาในวันนั้น
    การออกแบบ คือการแก้ปัญหา เป็นสิ่งที่เขาพูดกับเราตลอดการสนทนา คล้ายการมองเห็นงานออกแบบตกแต่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมาอย่างดี สิ่งที่มัณฑนากรหนุ่มคนนี้ตกผลึกในวิชาชีพ และการตกแต่งภายในสำคัญกับการอยู่อาศัยแค่ไหน
    “บางทีเราอาจจะไม่รู้เลยว่าที่เราตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วรู้สึกไม่สดชื่นเพราะอะไร” คุณเองก็อยากรู้ใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นทำตัวตามสบาย แล้วตามมาตรวจภายในไปด้วยกัน
บ้านบ้าน วิภาวดี 20

เปิดคลินิก : สิ่งที่รังสรรค์ รังสรรค์

    เมื่อทำงานมาได้สักระยะ โจทย์ที่รังสรรค์มักเจอคือ เมื่อออกแบบไปแล้วเฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่ในตลาดไม่มีรูปแบบที่อยากได้ เขาก็เลยเริ่มสเก๊ตช์ เฟอร์นิเจอร์ในแบบที่อยากได้ เกิดมาเป็นแบรนด์ niiq ซึ่งอายุตอนนี้ประมาณ 10 ขวบพอดิบพอดี
    ชอบอะไรในงานไม้นัก เราถาม
    “เฟอร์นิเจอร์มันหลีกไม่พ้นวัสดุประเภทนี้อยู่แล้ว ไม้ คุณสมบัติของมันคือแปรรูปได้ง่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือตัดต่อเชื่อมด้วยกาว สิ่งที่มัน ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสูง เป็นฝีมือเชิงช่างที่บ้านเรามันไม่ยาก
    “ตอนที่เราเริ่มทำงานเฟอร์นิเจอร์ เรามีความคิดว่าอยากให้โจทย์คือแบบความเป็น Eco Design แต่ความ Eco คนมักจะมองกันในแง่ การรีไซเคิล หรือแปรรูปเอาวัสดุที่เรานึกไม่ถึง แต่เรามองแล้วว่า ถ้าออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งที่สามารถใช้มันด้วยช่วงเวลาที่ยาวนานมาก สามารถส่งต่อจากอีกเจนเนอเรชันหนึ่งไปสู้อีกเจนเนอรเรชันหนึ่งได้ มันก็เป็น Eco Design ที่ดีได้เหมือนกัน
    “ถ้าเราจะออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้จริง และใช้ปริมาณไม้เยอะขนาดนี้ เราควรออกแบบให้มันอยู่ได้นาน ๆ เข้ากับสิ่งอื่น ๆ ที่ อยู่รอบ ๆ ตัวได้ มันไม่จำเป็นต้องเห็นปุ๊บแล้วบอกว่าสวยมากเลย สวยแบบโคตรสวย เราบอกว่า แค่สวยประมาณหนึ่ง พอแล้ว แบบเรียบ ๆ แต่เป็นความงาม ที่มีรายละเอียด เราพยายามจะกลับไปหารากของ Design ดั้งเดิมมากกว่า”
บ้านบ้าน วิภาวดี 20

ซักประวัติ : หาอาการและความต้องการในงานออกแบบภายใน

    เมื่อมีเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นเหมือนยาชั้นดี ซึ่งมาช่วยตอบโจทย์และแก้ปัญหางานออกแบบภายในของตัวเองแล้ว การทำงานของเขาก็ไปในทิศทาง ที่ตรงใจมากขึ้น โดยก่อนจะเริ่มงานใด ๆ สิ่งที่รังสรรค์ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือการคุยกับลูกค้าให้มาก แม้ว่าส่วนใหญ่จะมาด้วยเลเอาท์ หรือมาแบบให้ช่วยวางแปลนเลย แต่เขาก็จะคุยกับลูกค้าก่อนเสมอว่ายังขาดอะไรอยู่ แล้วแบบไหนหรือสไตล์ไหนคือสิ่งที่ชอบ
    “เรามองการออกแบบเป็นเรื่องการแก้ปัญหา เราหาโซลูชันที่จะไปต่อเกิดเป็นผลลัพธ์ที่มันตรงใจ ถ้าเป็นบ้านก็ตรงใจผู้อยู่อาศัย ถ้าเป็นร้าน ก็ต้องตรงใจกับคนที่จะมาปฏิสัมพันธ์กัน ณ จุดนั้น งานออกแบบนอกจากเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาแล้วยังเป็นเรื่องของภาษา คือเรามองการออกแบบ งานดีไซน์เป็นเรื่องการสื่อสาร หมายถึงว่า เราเห็นสิ่งนี้แล้วรู้สึกยังไงกับมัน มันพูดอะไรกับเรา เห็นไม้เรารู้สึกว่ามันอบอุ่น เห็นเหล็กรู้สึกว่ามันแข็งแรง เห็นหินรู้สึกถึงความหนักแน่น พวกนี้มันพูดด้วยภาษาของมันเองให้เราฟัง
    “สมมติว่าเราอยากได้บ้านที่อยู่สบาย ๆ เราต้องหาวัสดุหรือภาษาที่มันสื่อสารกับเราว่านี่คือความสบายเข้ามา อย่างเช่น เราเห็นบ้านที่มีสีขาว มันก็ดูสบายแล้ว มีเตียงที่ฟู หนานุ่มก็ดูสบาย หรือลองนึกภาพว่าเตียงทำจากหินอ่อนก็คงจะคนละความรู้สึก ต้องไปทำความเข้าใจก่อนว่าภาษา ที่เรากำลังพูดกับตัวเจ้าของบ้านเป็นภาษาเดียวกันหรือเปล่า เขาอยากจะอยู่ในพื้นที่แบบไหน สเปซแบบไหน
    “ในเมื่อมันเป็นเรื่องของการสื่อสาร ถ้าเราอยากจะพูดให้มันเข้าใจง่าย ตรงประเด็น เราก็ต้องทำความเข้าใจกับภาษาตรงนี้ให้ถูกต้องก่อน อย่างโปรเจกต์ที่เราทำ ‘บ้านบ้าน’ เราบอกว่าคาแรกเตอร์ของบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่อยู่แล้วรู้สึกสบาย เหมือนได้อยู่ในบ้านที่ปลูกไว้ที่ต่างจังหวัด ซึ่งมีโอกาสไปแค่อาทิตย์ละ 2 - 3 วัน เพราะเดินทางหลายร้อยกิโลฯ ถ้าอยากได้คาแรกเตอร์แบบบ้านหลังนั้นแต่อยู่ใจกลางเมืองนะ เราก็ต้องไปหาว่า ภาษาของความสบายอันนั้นมันอยู่ที่อะไร ความโล่ง หรืออยู่ที่วัสดุ
    “แต่ถ้าเราบอกว่าคาแรกเตอร์ของบ้านที่จะอยู่สบายก็คือ พื้นผิวที่ดูสบาย ๆ เราก็ไปสกิมโค้ท (Skim Coat) ให้พื้นผิวไม่ต้องดูแลเยอะ มันอาจจะ มีความกระดำกระด่างอยู่บ้างนะ แต่เราปล่อยให้มันเป็นธรรมชาติ ไม่ได้รู้สึกถือสาความไม่เนี้ยบของมัน เราเลยรู้สึกสบาย ซึ่งตรงนี้เมื่อเราเข้าใจ ตรงกันแล้วก็ไปกระบวนการต่อไปได้”
    “ผมว่าเรา Kick Off ด้วยการคุยกันเยอะหน่อยก็ดี เพราะว่าบางทีไปนึกออกทีหลังแล้วเหมือนไปรื้อหรือล้มกระดานใหม่ แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่ง ที่ซีเรียสมาก ระหว่างทำงานมันก็จะเกิดการแตกประเด็นย่อยเพิ่มเติมอะไรขึ้นมาก็มี”
บ้านบ้าน วิภาวดี 20
    หลายคนอาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องถึงมืออินทีเรียดีไซเนอร์ บางคนสามารถแต่งบ้านเองได้ แต่ใช่ว่าทุกคนที่จะมีเซนส์ด้านนี้ หรือจริง ๆ แล้ว ทุกความสวยงามที่เห็นนั้นซ่อนด้วยฟังก์ชันและมีดีเทลมากกว่าความสวยงาม เราถามด้วยความสงสัย
    “ผมว่าก็ทำได้นะ คือมันเหมือนกับการที่บอกคนทำอาหารเป็นกับคนทำไม่เป็น ถ้าคนที่เขาใฝ่รู้หรือเป็นคนช่างสังเกต บางทีเขาไม่สามารถ อธิบายได้ว่าทำไมเขาชอบสิ่งนี้ แต่มันเป็นรสชาติที่เขาชอบแค่นั้นเอง เขาเห็นปูนเปลือยแล้วเขารู้สึกว่ามันสบาย เขามีบ้านเขาก็อยากจะเป็นปูนเปลือย อยู่กับไม้แล้วสบายใจ เขาก็รู้สึกว่าถ้าอยู่บ้านก็อยากได้โต๊ะไม้เอาไว้นั่งกินข้าว หรือเห็นเส้นสายบางอย่างที่รู้สึกว่าสนุกดี”
    “เวลาเราไปดูบ้านชาวบ้าน ทำไมเขาสร้างบ้านได้โดยไม่ต้องใช้มีอินทีเรียดีไซน์เนอร์ เพราะว่าเขามีเวลาที่จะพินิจพิเคราะห์ คำนึงถึงฟังก์ชัน ของเขาเองจริง ๆ ว่าอยากได้ฟังก์ชันแบบไหน เพราะฉะนั้นผมคิดว่า มันเป็นเรื่องของการได้นั่งนิ่ง ๆ แล้วคิดถึงสิ่งที่ตัวเรา คนในครอบครัวจะต้องใช้ ถ้าเราได้นั่งค่อย ๆ คิด เดี๋ยวมันจะเกิดเป็นข้อมูลที่จะมาทำงานเอง
    “โดยวิชาชีพแล้วอินทิเรียดีไซน์เนอร์เป็นเหมือนที่ปรึกษา เหมือนเราไม่สบายไปหาหมอ ต้องไปบอกอาการให้เขาฟังว่าโจทย์ของเราคืออะไร เรามีอะไรเป็นปัจจัยหลัก-รอง ในส่วนหนึ่งเราก็ต้องทำหน้าที่ควบคุมงบประมาณ การคิดเผื่อในระยะยาวที่เขาจะต้องดูแลมันด้วย ผมว่ามันเป็นเรื่อง ของการให้คำแนะนำปรึกษาและหาทิศทางที่จะไปร่วมกัน ต้องรับฟังแล้วเอามาคิดวิเคราะห์”
    “ผมคิดว่าไม่ต้องซีเรียสถึงขั้นต้องมีทีมมาหลีดเราขนาดนั้น แต่ในแง่หนึ่ง สมมติว่าเราดูสัดส่วนไม่เป็น แต่ถ้ามีคนมาไกด์นิดหน่อยเราสามารถ ไปต่อได้แล้ว อย่าง niiq เอง เราก็ไม่ได้ทำฟูลดีไซน์เซอร์วิสให้ลูกค้าทุกราย บางรายอาจจะมีโจทย์ให้เรามาเป็นชิ้น ๆ ด้วยซ้ำ เขาอาจจะขอคำแนะนำ กับเราแค่บางเรื่อง เช่น เขาไม่แน่ใจว่าขนาดพื้นที่ตรงนี้ควรจะเป็นโต๊ะกินข้าวไซซ์ไหน รูปร่างไหน เราอาจจะต้องตั้งคำถามว่า ที่บ้านกินกันแบบ เป็นกลุ่มใหญ่ไหม หรือวัฒนธรรมการกินที่บ้านเป็นยังไง ซึ่งอาจจะต่างกันไปในแต่ละครอบครัว ถ้าถนัดจานไซซ์ใหญ่ก็ใช้โต๊ะไซซ์ใหญ่ แต่เนื่องจาก พื้นที่จำกัดอาจจะต้องลิมิตลง ลองไปเลือกเอาระหว่าง 85 ซม. กับ 95 ซม. เป็นต้น ขึ้นอยู่กับชีวิตประจำวันและสิ่งที่ต้องใช้ พอเราได้โจทย์นี้ก็จะ แนะนำเขาได้”
    แล้วจะบาลานซ์ความสวยงามกับฟังก์ชันอย่างไร ถ้าบางอย่างมันสนองฟังก์ชันมากแต่อาจจะไม่สวย ถูกใจเท่าไหร่นัก เราถามต่อ
    “อันนี้ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของผู้ออกแบบ สุดท้ายปลายทางคือคุณก็ต้องทำให้มันดีให้ได้ แต่ในกระบวนการฝึกหัดวิชาชีพพื้นฐาน เรื่องการใช้งาน ต้องมาก่อน ในมุมที่ต้องมาตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน ไม่ได้พูดถึงสถานที่ที่เป็นศูนย์การค้านะ ที่ต้องเตะตาเอาไว้ก่อน”
    เมื่อความสวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สุดท้ายต้องทำงานด้วยความเข้าใจเงื่อนไขที่ว่า แม้จะเป็นผลงานผู้ออกแบบก็จริง แต่มันเป็นบ้านของเขา เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่มันเป็นสิ่งสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัย ต้องหาจุดลงตัวให้ได้ คือสิ่งที่รังสรรค์คิดเสมอ
    “เราก็พยายามช่วยเขาเกลี่ย หมายความว่าเราพยายามตีโจทย์ว่าที่เขาชอบเนี่ยมันหมายถึงอะไร บางคนบอกว่า พี่ชอบหิน ชอบมากเลย อยากใส่หินไปทุกพื้นที่ เราก็พยายามช่วยเขาบาลานซ์ว่าบางทีมันเยอะไปก็ไม่เวิร์กหรอก ต้องลองยกตัวอย่างให้เขาดู บางทีอาจจะพูดด้วยคำพูด แต่ถ้าอธิบายไม่ชัดต้องลองเปิดภาพตัวอย่างให้เขาดู หรือเอาแพทเทิร์นมาเรียงให้เขาดู
    “บางทีลูกค้าเขาจะมองเป็นจุด ไม่ได้มองภาพรวม เราเชื่อว่าวิธีการพูดคุย จะเข้าใจเขาได้ ไม่มีลูกค้าคนไหนที่มาแบบไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง เขาต้องมีอะไรบางอย่าง แต่เขาจะบอกเราไหมแค่นั้น บางคนอยากได้หิน แต่เขาไม่กล้าบอกว่า ซินแสเป็นคนบอก ยังไงก็จะต้องหินให้ได้ เราก็โอเค มันต้องมีเหตุผลซ่อนอยู่เบื้องหลังเพียงแต่จะพูดหรือไม่พูด”
    นอกจากวิธีการคุย การสื่อสารด้านการออกแบบในความหมายของรังสรรค์ ยังรวมไปถึงเรื่องของการฟัง เมื่อฟังแล้วจับประเด็นให้ได้ด้วย
    “เราต้องเป็นนักฟังที่ดีด้วย หมายถึงว่า ฟังแล้วต้องจับต้องสิ่งที่เขาสื่อสารมาได้ เพราะถ้าจับประเด็นได้ ก็มาวิเคราะห์ต่อได้ว่าสัญญาณที่เขา ส่งมาคืออะไร บางทีเขาพูด แต่ตาฟ้องอีกแบบหนึ่ง เช่น เขาบอกว่าชอบแล้ว แต่บางทีเราดูแล้วมันไม่ใช่นะ เขาอาจชอบบรรยากาศที่เกิดจากสิ่งนี้ พอเรารู้ว่าเขาไม่อยากจ่ายแพง เราอาจจะหาสิ่งที่ให้ความรู้สึกเหมือนกันมาแทนให้เขาได้"
บ้านบ้าน วิภาวดี 20

รักษา : แก้ปัญหาและหาวิธีรักษาให้ตรงจุด

    รังสรรค์อธิบายต่ออีกว่าโดยวิชาชีพแล้ว ต้องทำการตัดสินใจเยอะมาก เชื่อไหมตั้งแต่เปิดประตูบ้านเข้าไปก็มีเรื่องให้ตัดสินใจแล้ว ไม่ว่าจะพื้น ต้องเป็นอย่างไร ขนาดเท่าไหร่ ปูแพทเทิร์นแบบ ยาแนวต้องสียังไง ฉะนั้นการมีคอนเซปต์ก็จะเป็นหลักในการตัดสินใจได้ การทำงานของเขา ออกแบบจากประสบการณ์เป็นหลัก ฟังแล้วชักสงสัยว่านอกจากประสบการณ์ยังมีอย่างอื่นอีกไหม
    “การแก้ปัญหาเรื่องการออกแบบ มันเกิดจากประสบการณ์และการมองไปล่วงหน้า หมายถึงว่า มันไม่จำเป็นว่าจะไปเตะไม้ชิ้นที่ 1 แล้วเรา ต้องไปเตะไม้ชิ้นที่ 2 แล้วต้องไปเตะชิ้นที่ 3 ก่อน แล้วเราถึงจะรู้ว่ามีไม้ที่เราต้องระวังอยู่สามชิ้น เราเตะชิ้นที่ 1 ปุ๊บ เราก็ต้องเริ่มมองแล้วว่า มันมีชิ้นที่ 2 ชิ้นที่ 3 หรือเปล่า นี่ก็เป็นการคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้า ซึ่งอันนี้ก็คือเรื่องของประสบการณ์
    “ยังมีในเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ต้องเรียนรู้หรือติดตาม เช่น วัสดุที่มาแทนอะไรบางอย่างหรือเครื่องไม้เครื่องมือประกอบอาคารสมัยใหม่ เรื่องพวกนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องคอยไปเรียนรู้และอัปเดต เหมือนอย่างที่บอกว่าการออกแบบก็คือการแก้ปัญหา ถ้าเราเรียนรู้เครื่องมือพวกนี้ได้ทัน ก็จะช่วยแก้ปัญหาให้คนที่เขาต้องการคำแนะนำจากเราได้ บางอย่างเราก็เรียนรู้จากลูกค้าเหมือนกัน”
บ้านบ้าน วิภาวดี 20

รับยา : ยาขนานนี้บำบัดชีวีให้ง่ายขึ้น

    การอยู่อาศัยในบ้านที่ผ่านการออกแบบมาแล้วนั้น ย่อมมีผลต่อการใช้ชีวิต นั่นเป็นเพราะสิ่งนั้นสอดคล้องกับการใช้งาน
    “ยังไม่พูดถึงรูปแบบนะ พูดถึงการแก้ปัญหาก่อน การแก้ปัญหาที่ดีหมายถึงว่า บ้านที่ออกแบบจัดระเบียบไว้ดี ก็จะทำให้เราใช้ชีวิตง่ายมากขึ้น อย่างเช่น หมวดหมู่ของในห้องครัว ไม่ใช่ว่าเราจะหยิบกระทะใบเล็กแต่ว่าไม่รู้ว่ามันซ่อนอยู่ตรงไหน หรือเราต้องหยิบออกมาทั้งยวง ทั้งที่ใช้แค่ใบเดียว
    “อย่างบางบ้านทำอาหารกินสามมื้อ จะเก็บกระทะเข้าลิ้นชักทำไม คุณก็แขวนไว้เลยสิ อย่างแม่บ้านญี่ปุ่นเขามีอุปกรณ์ พวกกระปุกเครื่องปรุง หลายอย่าง ก็วางเอาไว้ ไม่เห็นต้องเก็บเอาไว้ดีเกินไป สุดท้ายมันยุ่งวุ่นวายกับชีวิตคุณมากเลย จะหยิบใช้ทีก็อยู่ในเก๊ะ ออกแบบห้องครัวให้สวย ไม่ยากนะ อยู่ที่โจทย์มากกว่า สิ่งที่ยากสำหรับการออกแบบห้องครัวคือฟังก์ชันการใช้งานของแต่ละบ้านมากกว่า
    “ส่วนห้องนอนก็อาจจะเป็นเรื่องการจัดเก็บของในตู้เสื้อผ้า ถ้าเราออกแบบไว้ดีพอ การพับเสื้อผ้าต่าง ๆ มันจะอยู่ในที่ที่ทำให้คุณประหยัดพื้นที่ได้ ตู้ที่ลากออกมาแล้วเก็บผ้าได้แถวเดียว ที่เหลือไม่รู้จะเก็บยังไงก็ซุก ๆ ยัด ๆ เอาไว้จะหยิบใช้ก็ลำบาก”
    นอกจากการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาทั้งหมดที่ว่ามานี้ มีอะไรที่คนทั่วไปยังไม่รู้เรื่องงานอินทีเรียอีกไหม เราถาม เป็นคำถามสุดท้าย ของการพุดคุยในวันนั้น
    “ที่ลาดกระบังจะเรียกว่า ‘สถาปัตยกรรมภายใน’ ผมว่าคำนี้มันกินลึกกว่าคำว่านักตกแต่งภายใน เพราะมันเป็นการแก้ปัญหาการใช้งาน กับพื้นที่ภายใน ถ้าเรามองพื้นที่ภายในเป็นปริมาตร (Volume) การเกิดปริมาตรหมายถึงต้องมีการปิดล้อม มีรูปด้าน มีหลังคา และการเจาะช่อง เมื่อมีการเจาะช่อง ก็จะมีเรื่องการควบคุมแสงธรรมชาติเข้ามา ซึ่งเรื่องคุณภาพของแสงนี้ คนอาจจะนึกไม่ถึงว่าเป็นงานของนักออกแบบภายในด้วย ยกตัวอย่างเช่น ตัวอาคารที่ออกแบบการเจาะช่องแสงมาแล้ว ถ้าเรารู้สึกว่าปริมาณแสงมันเยอะเกินไป เราก็หาไดเรกชันในการมาหรี่แสง เมื่อแสง มันลดลง ทำให้ภาพดูสงบกว่า ทำให้ดูเย็นลง และผ่อนคลายขึ้น สภาพแสงที่เข้ามาในรูปแบบใหม่ มันก็จะเปลี่ยนการรับรู้ของสภาพห้องไปอีก ลักษณะหนึ่งได้
    “เรื่องนี้บางทีเราอาจจะไม่ได้คิดถึงว่ามันมีผลยังไงกับภาพรวมหรือชีวิตประจำวันของเรา บางทีเราอาจจะไม่รู้เลยว่าที่เราตื่นขึ้นมาตอนเช้า แล้วรู้สึกไม่สดชื่นเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะว่าแค่ซีนแรกที่เราตื่นขึ้นมาเจอทำให้เราเป็นอย่างนั้น คือไม่มีแสงสว่างจากธรรมชาติเลย ตื่นมาปุ๊บ คุณเปิดไฟจากห้องน้ำมันก็เป็นแสงประดิษฐ์หมดแล้ว ไม่มีความสดชื่นจากแสงแดดยามเช้า มันเป็นเรื่องของการบาลานซ์การอยู่กับธรรมชาติ และสิ่งที่ธรรมชาติให้เรามา ซึ่งเราต้องคิดเรื่องพวกนี้ด้วย”
    หวังว่าจะได้คำตอบในใจกันแล้วนะว่า การตกแต่งภายในสำคัญกับการอยู่อาศัยแค่ไหน
ไม่พลาดทุกเรื่องบ้านจากเรา
ทำบ้านให้เป็นบ้าน